วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

แก้มลิง : ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ



 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นนักสังเกตธรรมชาติที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ อีกทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถในการนำสิ่งที่ทรงสังเกตเห็นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆอยู่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง ซึ่งพระราชทานแก่คณะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ไว้ 5 แนวทาง คือ





ประการแรก สร้างคันกั้นน้ำ โดยปรับปรุงแนวถนนเดิม

ประการที่สอง จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริ เพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ เมื่อมีน้ำหลาก

ประการที่สาม ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิม และขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ

ประการที่สี่ สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ

ประการที่ห้า ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง






วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคต่าง ๆ คือ




การก่อสร้างคันกันน้ำ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนานไปตามลำน้ำเพื่อป้องกัน มิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านในการก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมล้นเข้ามา ให้ออกไป การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลัก สามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ตามพระราชดำริ "แก้มลิง"



ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่า


“…ลิงโดยทั่วไปที่เราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี แล้วนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง การนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ เป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา … ”


โครงการแก้มลิง เป็นระบบการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการขุดลอกคูคลองต่างๆเพื่อระบายน้ำส่วนเกินออกจากพื้นที่ลุ่มให้ไหลมารวมกันในบ่อพักน้ำ ลักษณะเดียวกับที่ลิงสะสมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้ม จนเมื่อน้ำในทะเลลดลงจึงค่อยระบายน้ำลงทะเล โดยการใช้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก





ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ ที่บริเวณชายทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow)


ตามธรรมชาติ สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)





หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือ



การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสูบ่อพักน้ำ เส้นทางนํ้าไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้าน จ.สมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้าน จ.สมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ  โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"

ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการด้วยกัน คือ
  • โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
  • ครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
  • โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"



โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า

"...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่ม
ประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."


นอกจากนี้ โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ยังมีประโยชน์ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นปัญหาด้านสภาวะแวดล้อม โดยน้ำที่ปล่อยลงจากแก้มลิงจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ให้เบาบางลง แล้วจึงผลักออกสู่ทะเล โครงการแก้มลิงจึงถือได้ว่าเป็นโครงการที่อาศัยธรรมชาติในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีความรู้จริงในธรรมชาติของน้ำ และสภาพภูมิประเทศในท้องที่ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง






ที่มา :
http://www.royalvdo.com/?p=68
http://www.vajiravudh.ac.th/VCZone/VC_SeM/Project/ENVIRONMENT08.pdf


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น