ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย
แต่เดิมสภาพภูมิประเทศในเขตพื้นที่ อ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ภายหลังได้มีราษฎรเข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่า ทำลายป่า ทำการเกษตรอย่างผิดวิธี และใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียต่อดินและน้ำ ขาดการบำรุงรักษาคุณภาพดิน ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปรสภาพไปอย่างรวดเร็ว หน้าดินถูกชะล้างความอุดมสมบูรณ์ไปหมดสิ้น ดินกลายเป็นดินทรายและดินดานที่ไม่มีแร่ธาตุ ความสมดุลทางธรรมชาติถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงความแห้งแล้งของพื้นที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง
วันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ความว่า
"หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด"
จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ดำเนินการประมาณ 8,700 ไร่ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯด้านป่าไม้เอนกประสงค์ ศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสมควบคู่กับการอนุรักษ์และปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ โดยเน้นการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินงานในรูปแบบ "ป่าไม้หมู่บ้าน" คือให้ราษฎรดำเนินการเองเป็นเจ้าของเอง ปลูกป่าและบำรุงดูแลรักษาต้นไม้เอง โดยระยะแรกให้หน่วยงานราชการเข้าไปสาธิตและแนะนำให้ราษฎรรู้จักการเพาะต้นกล้า ซึ่งได้พาะกล้าไม้ ทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ พร้อมทั้งได้ศึกษาการป้องกันไฟป่าแบบ "ระบบป่าเปียก" ต่อมาได้มีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการปรับบำรุงดิน เพราะหญ้าแฝกเปรียบเสมือน กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต จะช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลบ่าสามารถดักตะกอนดินทำให้เกิดหน้าดินและความชื้นในดินด้วย
แนวทางการดำเนินงาน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการพัฒนาพื้นที่ใน ๓ ขอบเขตใหญ่ๆคือ
๑. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ๒. การพัฒนาแหล่งน้ำ ๓. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร |
การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกขวางตามแนวระดับให้กอชิดติดกัน ตามความเหมาะสมของพื้นที่ลาดชัน เพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำที่เกิดจากการชะล้างของหน้าดิน ในบริเวณร่องน้ำ แนวของหญ้าแฝกช่วยเก็บกักตะกอน เป็นกำแพงป้องกันดินตามธรรมชาติ ล้อมดินไว้เพื่อสร้างหน้าดินขึ้นมาใหม่ โดยทำการปลูกป่าเสริมลงไปในพื้นที่ ส่วนบริเวณแหล่งน้ำรากของหญ้าแฝกยังดูดซับสารเคมี เป็นวิธีการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ
|
ในดินที่แข็งเป็นดาน |
ได้ทำการขุดเจาะให้เป็นช่องหรือบ่อ นำดินที่มีธาตุอาหารพืชมาใส่ นำหญ้าแฝกมาปลูกให้น้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น รากของหญ้าแฝกมีความแข็งแรง สามารถชอนไชลงในแนวดิ่ง ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง ได้ดี ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินที่แข็งเป็นดานให้แตกตัว รากของหญ้าแฝกที่ตายและย่อยสลายผุพัง เกิดมีช่องว่าง ทำให้น้ำและอากาศสามารถหมุนเวียนลงสู่ใต้ดินได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นเกิดขบวนการ การย่อยสลาย นำพันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ เช่น ไม้ดั้งเดิมที่เคยมีในพื้นที่มาปลูกเสริม ใบของหญ้าแฝกที่แก่ ยังสามารถตัดและนำมาคลุมผิวดินตามโคนต้นไม้หรือหน้าดิน ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ ย่อยสลายได้เร็ว หมุนเวียนเป็นธาตุอาหารของพืชได้ต่อไป |
การกระจายความชุ่มชื้น |
แต่เดิมพื้นที่มีความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นเขตอับฝน เกิดสภาพเป็นทะเลทราย เมื่อมีฝนตกเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินต้นไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ภูเขามีสภาพเป็นเขาหัวโล้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำ เพื่อสร้างและกระจายความชุ่มชื้นในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการดังนี้คือ |
การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (ฝายแม้ว) (Check Dam) |
คือการนำวัสดุตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ในพื้นที่ มาใช้ปิดกั้นทางน้ำร่องเขา และพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขา เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและช่วยดักตะกอนไว้ ไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ในระยะเวลาหนึ่งเศษซากกิ่งไม้ ใบไม้และตะกอนดินจะช่วยอุดตามช่องและร่องของวัสดุที่ใช้ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น สามารถเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ช่วยกระจายความชุ่มชื้นในบริเวณร่องเขา หรือร่องน้ำให้น้ำมีโอกาสซึมลงสู่ใต้ดิน เป็นการเพิ่มและรักษาระดับน้ำใต้ดินไว้ให้พืสามารถดูดซับความชุ่มชื้นไว้ได้ |
การทำคันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ | |
|
- คันดินเบนน้ำ(Diversion) คือการขุดดินให้เป็นร่อง หรือบางส่วนยกระดับคันดินให้สูงขึ้น สร้างขึ้นเพื่อสร้างต่อกับคันดินกั้นน้ำทั้งสองด้านเข้าหากัน เมื่อมีฝนตกและปริมาณมาก น้ำสามารถไหลกระจายไปตามแนวคันดินแบบน้ำได้ทั้งสองด้านได้อย่างทั่วถึง ถ้าปริมาณน้ำเกินความจุของแอ่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำในแนวระดับ จะมีท่อลอดต่อผันน้ำไปยังแนวคันดินกั้นน้ำ และคันดินแบบน้ำด้านล่างที่เป็นแนวถัดไป สามารถควบคุมน้ำให้กระจายไปในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง คันดินกั้นน้ำแบบนี้สามารถใช้เป็นถนนสัญจรไปมา และยังใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย
การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของรูปแบบการบริหารจัดการ ที่สมควรจะนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติ ในการพัฒนาพื้นที่ชนบทอื่นๆ ของประเทศต่อไปได้อย่างดียิ่ง และความสำเร็จดังกล่าวได้สร้างความปลาบปลื้ม และพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนิน กลับกรุงเทพมหานคร ได้มีพระราชกระแสกับเจ้าหน้าที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ที่ส่งเสด็จ ณ พระราชราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ความตอนหนึ่งว่า
"...สิ่งที่ทำไว้ที่ห้วยทราย นับว่าประสบความสำเร็จดีมาก ต้องบันทึกเอาไว้เป็นทฤษฎีหรือตำรา.....ฉันปลื้มใจมาก..."
โดยยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงพระราชทานให้ไว้เป็นหลักปฏิบัติ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจสานพลังเป็นหนึ่งเดียว ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้พื้นที่ที่มีสภาพเกือบเป็นทะเลทราย กลับกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีป่าอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นำความชุ่มชื่นและปริมาณฝนมาสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งหมู่สัตว์ต่างๆที่เคยละทิ้งไปอยู่ที่อื่น ได้กลับคืนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุขอีกครั้ง อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของศูนย์ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งด้านการศีกษา การสาธารณสุข ฯลฯ เป็นการปูรากฐานของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง นับเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานไว้ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน
ที่มา : http://www.huaysaicenter.org/environment.php
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น