วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระราชดำรัสกับการผลิตสินค้าไทย



 "... การที่ท่านทั้งหลายผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในเศรษฐกิจ และการค้าของประเทศ ได้พยายามดำเนินนโยบายและปฏิบัติโดยวิธีการต่าง ๆ ในอันที่จะส่งเสริมสินค้าและการค้าของคนไทย เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองและของประชาชนให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้นนั้น เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ความพยายามดังกล่าว ได้บังเกิดผลดีเป็นที่น่าชื่นชมแล้วหลายประการ นับว่าท่านทั้งหลายมีแนวทางที่ดีเป็นพื้นฐานอยู่ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันดำเนินงานต่อไปโดยพรักพร้อม ถูกต้องตามหลักวิชา ด้วยความคิดวินิจฉัยอันละเอียดรอบคอบ มุ่งที่จะมองให้เห็นถึงสถานการณ์อันนานไกล เชื่อแน่ว่าสินค้าของเราที่ผลิตขึ้น จะมีคุณภาพที่ได้มาตรฐานและมีปริมาณที่แน่นอนสม่ำเสมอ เพียงพอและเหมาะสมสำหรับตลาดทั้งในประเทศทั้งนอกประเทศ และจะสามารถยกฐานะเศรษฐกิจของชาติขึ้นได้แท้จริงตามความมุ่งหวัง ..."

พระราชดำรัส
เนื่องในการเสด็จฯ ทรงเปิดงานแสดงสินค้าไทย ครั้งที่ 6
ณ พระราชอุทยานสราญรมย์
วันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๕



ตราสัญลักษณ์ครองราชย์ ๖๐ ปี




ความหมายของตราสัญลักษณ์ ครองราชย์ ๖๐ ปี
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


อักษรพระปรมาภิไธย ภปร สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำพระชนมวาร ขลิบรอบตัวอักษรด้วย
สีทอง บนพื้นสีน้ำเงินเจือทองอันเป็นสีประจำพระราชวงศ์ ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายความว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฏิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชร อันชื่อว่ารัตนะแวดล้อมประดับพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้น อันเหนือยิ่งกว่าเพชรอันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวง คือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราษฎร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุขเป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นแก่ปวงพสกนิกร ซึ่งต่างเชื้อชาติศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์


อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธย ภปร นี้ ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบพระอุณาโลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้หางช้างเผือกทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐ เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขาม ทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐ อันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่


เหล่านี้รวมเรียกว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง ๕ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ชัยศรี ๑ ธารพระกร ๑ พัดวาลวิชนีและพระแส้ ๑ ฉลองพระบาท ๑ หมายถึงปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ

ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง เขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ ปลายแห่งแพรแถบผูกเป็นภาพกระบี่ธุช เป็นวานรภายขาว มือถือก้านลายซุ้มอันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์ฯ อยู่ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายปลายแพรแถบผูกเป็นภาพพระครุฑพ่าห์ เป็นครุฑหน้าขาวกายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งตราสัญลักษณ์ฯ

พื้นภาพตราสัญลักษณ์ฯ เฉลิมพระเกียรติทั้งหมดสีเขียวปนทอง อันหมายถึง
สีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงสีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งผืนภูมิประเทศที่ทรงปกครอง ทำนุบำรุงอย่างหนักยิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ


ทรงพระเจริญ     ทรงพระเจริญ     ทรงพระเจริญ

........................................





ที่มา : คัดลอกมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา





พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


ความเป็นมา


จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งถือว่า เป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด “โครงการส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับ ในปีพ.ศ. 2504

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้กระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายนอกจากนี้ ยังดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการศึกษา ทดลอง บันทึกรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป


  

วัตถุประสงค์




โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน 3ประการ คือ
1. เป็นโครงการทดลอง เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านเกษตรกรรมต่าง ๆ
2. เป็นโครงการตัวอย่าง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำการศึกษา สามารถนำไปดำเนินการเองได้
3. เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลตอบแทนเชิงธุรกิจ


การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น

  • โครงการไม่ใช่ธุรกิจ  เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว ให้พึ่งพาตนเองได้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ โครงการป่าไม้สาธิต, โครงการนาข้าวทดลอง, โครงการปลานิล ที่รู้จักกันในนาม “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”

  • โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และจำหน่ายโดยไม่แสวงผลกำไร ไม่แข่งขันทางธุรกิจ และนำรายได้มาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์ ได้แก่ โรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา, โรงผลิตอบแห้ง, โรงน้ำผลไม้สวนจิตรลดา ฯลฯ

นอกจากนี้ ปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกระแสรับสั่งที่ให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย เพื่อเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งอาจเป็นทางแก้ไขหากเกิดเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลน, อ้อยราคาตกต่ำ โดยพระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 925,500 บาท เพื่อจัดสร้างอาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ ต่อมามีผลผลิต เช่น แอลกอฮอล์แข็งสำหรับอุ่นอาหาร เจลล้างมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก น้ำมันนวด นอกจากนี้ยังนำแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซิน เพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ สำหรับโครงการไบโอดีเซล จากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ ที่ใช้แล้ว ยังเป็นทางเลือกสำหรับการใช้พลังงานในปัจจุบันอีกด้วย
              
 “โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา” นับเป็นโครงการที่คนไทยได้รับพระเมตตาจากพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

การตั้งโครงการอยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นที่ประทับของพระองค์ สะท้อนให้เห็น
ชัดเจนว่าพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ และมีพระราชประสงค์ดูแลให้โครงการเกิดประสิทธิภาพอย่าง
ใกล้ชิด ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมโครงการ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนา
ตนเองไปให้เกิดความก้าวหน้าแก่ชีวิตของตนเองสืบไป




ที่มา : http://www.kanchanapisek.or.th/kp1/index_th.html
          http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=65460

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ในหลวงกับโครงการด้านสาธารณสุข



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุข และระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

 "...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือ เป็นแต่ผู้สร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ..."



ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ในขบวนเสด็จตรวจรักษาราษฎร และทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2510 ต่อมาเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม เพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการต่างๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น 2 ประการคือ  โครงการแพทย์พระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย การบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้านดังกล่าว เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดราษฎร ทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่การเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งอาจกล่าวสรุปได้ว่า โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานสามารถแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับโดยตรงจะช่วยแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน จะเป็นชาวบ้านชนบทที่ยากจนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฎในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็ยป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาล และผู้ที่มาขอรับการตรวจ ตลอดจนจากการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จไปตามหมู่บ้านต่างๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน

  • ทางด้านเศรษฐกิจ การที่ราษฎรเจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จะต้องใช้กำลังกายในการทำงาน ดังนั้นเมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นจะมีร่างกายที่สามารถต่อสู้กับงานหลักในการประกอบอาชีพได้ ยังผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมและสังคมดีขึ้น

"...ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท..."


พระมหากรุณาธิคุณทางด้านการแพทย์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระองค์ทรงไม่ทอดทิ้งประชาชน  และทรงนำพาประชาชนไปสู่ความมีสุขภาพที่ดี และอยู่ดีกินดีได้ในที่สุด




มูลนิธิอานันทมหิดล



เนื่องในโอกาสวันมหิดล ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงมีคุโณปการแก่วงการแพทย์ไทยเป็นอย่างสูง จนได้รับการยกย่องให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย"



ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นทุนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 ทั้งนี้ เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ขั้นสูงสุดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยทรงพระราชดำริว่า เมื่อได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะเห็นว่าศาสตร์ต่าง ๆ นั้นมีความสัมพันธ์กัน และสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติได้ โดยเริ่มแรกได้ทรงพระราชทานนามแก่ทุนนี้ว่า "ทุนอานันทมหิดล" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร โดยในลำดับแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์เป็นประเดิม ด้วยทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และสนพระทัยการสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างยิ่ง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระดำเนินรอยตามพระราชบิดา ซึ่งทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างสรรค์อาจารย์แพทย์และอาจารย์ในสาขาวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีพระประสงค์จะให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาเป็นครูที่ดี ช่วยปรับปรุงและส่งเสริมความรู้ในสาขาวิชาที่ยังบกพร่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาให้ไปศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์ยังต่างประเทศ จนสำเร็จการศึกษาและกลับมาทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมาแล้ว ลำดับต่อมา เมื่อกิจการของ "ทุนอานันทมหิดล" ดำเนินการได้ผลดีมาเป็นระยะเวลา 4 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล"เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 และเมื่อมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการพระราชทานทุนแยกเป็นแผนกต่าง ๆ ถึง 8 แผนก ดังนี้
  1. แผนกแพทยศาสตร์
  2. แผนกวิทยาศาสตร์
  3. แผนกวิศวกรรมศาสตร์
  4. แผนกเกษตรศาสตร์
  5. แผนกธรรมศาสตร์
  6. แผนกอักษรศาสตร์
  7. แผนกทันตแพทย์ศาสตร์
  8. แผนกสัตวแพทยศาสตร์
นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆให้แก่คนไทยอย่างยิ่ง






<><><>
<><><>http://www.medicthai.com/admin/news_detail.php?id=4016#
http://kanchanapisek.or.th/kp11/organize/index.th.html
1.
2.
3.
4.
5.
6.
7.
8.







วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์







คืนวันที่ 25 ต่อกับวันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์และสิ่งของได้ ก็บริจาคแรงงาน ที่น่าปลื้มใจคือ งานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือ และนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลังพระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1,2,3 ถึง 12" ตามลำดับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเงิน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน "พระบรมราชูปถัมภ์" กับทรงดำรงตำแหน่ง พระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้ หมายความว่า "พระราชา" และ "ประชาชน" อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นและจดทะเบียนเป็น นิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506



วัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
  2. เพื่อให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษา
    • ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีเยี่ยมในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และเด็กกำพร้า หรืออนาถา ที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย
    • บูรณะ ซ่อมแซม ปรับปรุง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
  3. เพื่อให้มีการป้องกันสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
  4. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นส่วนรวมแก่ประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่น ซึ่งคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร และได้รับความเห็นชอบจากนายกมูลนิธิฯ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่า ภัยธรรมชาติ หรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และหลายจังหวัดภาคใต้ เมื่อ พ.ศ.2505 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสำนักงานอยู่ในกรมประชาสงเคราะห์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


 

ที่มา : http://www.thaigiving.org/node/128
         http://www.royalvdo.com/?p=122

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

โครงการด้านคมนาคมสื่อสาร




โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านคมนาคม การสื่อสารและเทคโนโลยีจะเกี่ยวกับการปรับปรุงถนนหนทางทั้งในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เพื่อใช้สัญจรไปมา และนำสินค้าออกมาจำหน่ายภายนอกได้โดยสะดวก ซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านคมนาคมโครงการแรกคือ โครงการสร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านห้วยมงคล ต.หินเหล็กไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งโครงการสะพานพระราม8 ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ได้รับความสะดวก ยังผลสู่ภาพรวมของประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ดังพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ความว่า

    "สำหรับการจราจร เครื่องมือนั้นสำคัญที่สุดคือถนน ก็ต้องมีถนนที่เหมาะสมที่เครื่องควบคุมการจราจร ไม่ใช่เรื่องของรัฐศาสตร์ หรือของตำรวจ หรือของศาล เป็นเรื่องของวิศวกรรม ก็จะต้องให้ดีขึ้น คือหมายความว่า ทำให้ถนนดีขึ้น ให้สอดคล้อง ซึ่งเป็นการบ้านที่หนักสุด เพราะว่ากรุงเทพฯได้สร้างมาเป็นเวลา 200 ปีแล้ว ไม่ได้มีแผนผังเมืองที่จริงจัง ก็มีการผังเมืองของทางการ แต่ว่าก็ไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะว่าคนไทยตามชื่อคนไทยคืออิสระ บังคับกันไม่ได้ จะสร้างอะไรก็สร้าง อยากจะสร้างเดี๋ยวนี้ก็สร้าง ก็ไปขวางกับคนอื่น คือขวางทางอื่น อันนี้ก็เลยแก้ไม่ได้..."



โครงการสะพานพระราม 8 หนึ่งในโครงการจตุรทิศ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2538 ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลาย ถ.วิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ด้วยทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่จะมี ปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีที่ยังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอทำให้เกิดการคับคั่งของการจราจร บริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณถนนราชดำเนินราชดำเนินกลาง ซึ่งต่อกับฝั่งธนบุรี โดยผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและ ถ.จรัญสนิทวงศ์  ซึ่งเป็นถนนสายหลักเส้นหนึ่งของฝั่งธนบุรี  ที่มีปริมาณการจราจรคับคั่งให้ สามารถคลี่คลายลงได้





ที่มา : http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/Projects/RDPBProjectType.aspx?p=43