วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554

พระราชดำรัสกับการผลิตสินค้าไทย



 "... การที่ท่านทั้งหลายผู้มีส่วนร่วมรับผิดชอบในเศรษฐกิจ และการค้าของประเทศ ได้พยายามดำเนินนโยบายและปฏิบัติโดยวิธีการต่าง ๆ ในอันที่จะส่งเสริมสินค้าและการค้าของคนไทย เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองและของประชาชนให้สูงขึ้นและมั่นคงขึ้นนั้น เป็นคุณประโยชน์อย่างยิ่ง ความพยายามดังกล่าว ได้บังเกิดผลดีเป็นที่น่าชื่นชมแล้วหลายประการ นับว่าท่านทั้งหลายมีแนวทางที่ดีเป็นพื้นฐานอยู่ ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันดำเนินงานต่อไปโดยพรักพร้อม ถูกต้องตามหลักวิชา ด้วยความคิดวินิจฉัยอันละเอียดรอบคอบ มุ่งที่จะมองให้เห็นถึงสถานการณ์อันนานไกล เชื่อแน่ว่าสินค้าของเราที่ผลิตขึ้น จะมีคุณภาพที่ได้มาตรฐานและมีปริมาณที่แน่นอนสม่ำเสมอ เพียงพอและเหมาะสมสำหรับตลาดทั้งในประเทศทั้งนอกประเทศ และจะสามารถยกฐานะเศรษฐกิจของชาติขึ้นได้แท้จริงตามความมุ่งหวัง ..."

พระราชดำรัส
เนื่องในการเสด็จฯ ทรงเปิดงานแสดงสินค้าไทย ครั้งที่ 6
ณ พระราชอุทยานสราญรมย์
วันศุกร์ที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๕



ตราสัญลักษณ์ครองราชย์ ๖๐ ปี




ความหมายของตราสัญลักษณ์ ครองราชย์ ๖๐ ปี
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช


อักษรพระปรมาภิไธย ภปร สีเหลืองนวลทอง อันเป็นสีประจำพระชนมวาร ขลิบรอบตัวอักษรด้วย
สีทอง บนพื้นสีน้ำเงินเจือทองอันเป็นสีประจำพระราชวงศ์ ล้อมด้วยเพชรอันเป็นเอกแห่งรัตนะ หมายความว่า เหล่านักปราชญ์ ราชกวีสำคัญ อีกบรรดาช่างอันมีชื่อ พระยาช้างสำคัญ นางงาม เหล่าทแกล้วทหาร ข้าราชบริพาร อันยอดฝีมือในการปฏิบัติราชการอย่างสุจริตยิ่ง เหล่านี้เปรียบด้วยเพชร อันชื่อว่ารัตนะแวดล้อมประดับพระเกียรติยศแห่งพระมหากษัตริยาธิราชพระองค์นั้น อันเหนือยิ่งกว่าเพชรอันได้ชื่อว่ารัตนะทั้งปวง คือ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสถิตเป็นเพชรอันยอดค่ายิ่งในดวงใจราษฎร์ ทรงบำบัดทุกข์ผดุงสุขเป็นที่พึ่งอันเกษมสุขร่มเย็นแก่ปวงพสกนิกร ซึ่งต่างเชื้อชาติศาสนาในพระราชอาณาจักรของพระองค์


อนึ่ง อักษรพระปรมาภิไธย ภปร นี้ ประดิษฐานบนพระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ประกอบพระอุณาโลม อันเป็นหนึ่งในเครื่องเบญจสิริราชกกุธภัณฑ์ แวดล้อมด้วยพระแสงขรรค์ชัยศรี และพระแส้หางช้างเผือกทอดสอดอยู่ในกงพระที่นั่งภัทรบิฐ เบื้องซ้ายแห่งพระมหาพิชัยมงกุฎ มีธารพระกรและพัชนีฝักมะขาม ทอดสอดอยู่เบื้องขวาแห่งกงพระที่นั่งภัทรบิฐ อันประดิษฐานบนฐานเขียง ซึ่งทอดฉลองพระบาทประดิษฐานอยู่


เหล่านี้รวมเรียกว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ประกอบด้วยสิ่งอันแสดงความเป็นกษัตริย์ทั้ง ๕ คือ พระมหาพิชัยมงกุฎ ๑ พระแสงขรรค์ชัยศรี ๑ ธารพระกร ๑ พัดวาลวิชนีและพระแส้ ๑ ฉลองพระบาท ๑ หมายถึงปีแห่งการเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติ

ล่างลงมาเป็นแพรแถบสีชมพูขลิบทอง เขียนอักษรสีทอง ความว่า ฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี พุทธศักราช ๒๕๔๙ ปลายแห่งแพรแถบผูกเป็นภาพกระบี่ธุช เป็นวานรภายขาว มือถือก้านลายซุ้มอันเป็นกรอบลายของตราสัญลักษณ์ฯ อยู่ด้านขวา ส่วนด้านซ้ายปลายแพรแถบผูกเป็นภาพพระครุฑพ่าห์ เป็นครุฑหน้าขาวกายสีเสนปนทอง มือถือก้านลายกรอบแห่งตราสัญลักษณ์ฯ

พื้นภาพตราสัญลักษณ์ฯ เฉลิมพระเกียรติทั้งหมดสีเขียวปนทอง อันหมายถึง
สีอันเป็นเดชแห่งวันพระบรมราชสมภพ และยังหมายถึงสีของความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์แห่งผืนภูมิประเทศที่ทรงปกครอง ทำนุบำรุงอย่างหนักยิ่งมาตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ


ทรงพระเจริญ     ทรงพระเจริญ     ทรงพระเจริญ

........................................





ที่มา : คัดลอกมาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม