วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ในหลวงกับโครงการด้านสาธารณสุข



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุข และระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

 "...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือ เป็นแต่ผู้สร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ..."



ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ในขบวนเสด็จตรวจรักษาราษฎร และทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2510 ต่อมาเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม เพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการต่างๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น 2 ประการคือ  โครงการแพทย์พระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย การบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้านดังกล่าว เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดราษฎร ทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่การเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งอาจกล่าวสรุปได้ว่า โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานสามารถแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับโดยตรงจะช่วยแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน จะเป็นชาวบ้านชนบทที่ยากจนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฎในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็ยป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาล และผู้ที่มาขอรับการตรวจ ตลอดจนจากการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จไปตามหมู่บ้านต่างๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน

  • ทางด้านเศรษฐกิจ การที่ราษฎรเจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จะต้องใช้กำลังกายในการทำงาน ดังนั้นเมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นจะมีร่างกายที่สามารถต่อสู้กับงานหลักในการประกอบอาชีพได้ ยังผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมและสังคมดีขึ้น

"...ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท..."


พระมหากรุณาธิคุณทางด้านการแพทย์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระองค์ทรงไม่ทอดทิ้งประชาชน  และทรงนำพาประชาชนไปสู่ความมีสุขภาพที่ดี และอยู่ดีกินดีได้ในที่สุด




2 ความคิดเห็น:

  1. ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

    ตอบลบ
  2. พระองค์ทรงเป็นห่วงคนไทย ไม่ว่าอยู่แห่งใดโดยแท้จริง
    ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ

    ตอบลบ