วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา





พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี


ความเป็นมา


จากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมพสกนิกรในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งถือว่า เป็นอาชีพหลักของประเทศ จึงทำให้เกิด “โครงการส่วนพระองค์ เกี่ยวกับการเกษตร สวนจิตรลดา” ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับ ในปีพ.ศ. 2504

โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดหลักปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน ให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรภายในประเทศ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และการนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยใช้กระบวนการผลิตที่ง่าย แต่มีประสิทธิภาพ ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายนอกจากนี้ ยังดำเนินการภายใต้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่มีการศึกษา ทดลอง บันทึกรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษา เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร และผู้ที่สนใจทั่วไป


  

วัตถุประสงค์




โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินงาน 3ประการ คือ
1. เป็นโครงการทดลอง เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านเกษตรกรรมต่าง ๆ
2. เป็นโครงการตัวอย่าง ให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาทำการศึกษา สามารถนำไปดำเนินการเองได้
3. เป็นโครงการที่ดำเนินงานโดยไม่หวังผลตอบแทนเชิงธุรกิจ


การดำเนินงานของโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น

  • โครงการไม่ใช่ธุรกิจ  เป็นโครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว ให้พึ่งพาตนเองได้ และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ โครงการป่าไม้สาธิต, โครงการนาข้าวทดลอง, โครงการปลานิล ที่รู้จักกันในนาม “ปลานิลสายพันธุ์จิตรลดา”

  • โครงการกึ่งธุรกิจ เป็นการศึกษาทดลองเกี่ยวกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และจำหน่ายโดยไม่แสวงผลกำไร ไม่แข่งขันทางธุรกิจ และนำรายได้มาใช้พัฒนาโครงการส่วนพระองค์ ได้แก่ โรงโคนมสวนจิตรลดา, โรงสีข้าวตัวอย่างสวนจิตรลดา, โรงผลิตอบแห้ง, โรงน้ำผลไม้สวนจิตรลดา ฯลฯ

นอกจากนี้ ปี 2528 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระกระแสรับสั่งที่ให้ศึกษาต้นทุนการผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย เพื่อเป็นพลังงานทดแทน ซึ่งอาจเป็นทางแก้ไขหากเกิดเหตุการณ์น้ำมันขาดแคลน, อ้อยราคาตกต่ำ โดยพระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 925,500 บาท เพื่อจัดสร้างอาคาร และอุปกรณ์ต่างๆ ต่อมามีผลผลิต เช่น แอลกอฮอล์แข็งสำหรับอุ่นอาหาร เจลล้างมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก น้ำมันนวด นอกจากนี้ยังนำแอลกอฮอล์ที่ความเข้มข้น 99.5% ผสมกับน้ำมันเบนซิน เพื่อผลิตแก๊สโซฮอล์ สำหรับโครงการไบโอดีเซล จากน้ำมันพืช หรือน้ำมันสัตว์ ที่ใช้แล้ว ยังเป็นทางเลือกสำหรับการใช้พลังงานในปัจจุบันอีกด้วย
              
 “โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา” นับเป็นโครงการที่คนไทยได้รับพระเมตตาจากพระบาท
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี

การตั้งโครงการอยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นที่ประทับของพระองค์ สะท้อนให้เห็น
ชัดเจนว่าพระองค์ท่านทรงให้ความสำคัญ และมีพระราชประสงค์ดูแลให้โครงการเกิดประสิทธิภาพอย่าง
ใกล้ชิด ขณะเดียวกันพระองค์ยังทรงเปิดกว้างให้ผู้สนใจเข้าไปเยี่ยมชมโครงการ เพื่อนำความรู้ไปพัฒนา
ตนเองไปให้เกิดความก้าวหน้าแก่ชีวิตของตนเองสืบไป




ที่มา : http://www.kanchanapisek.or.th/kp1/index_th.html
          http://www.positioningmag.com/magazine/details.aspx?id=65460

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ในหลวงกับโครงการด้านสาธารณสุข



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่าโครงการที่พระราชทานให้กับประชาชนในระยะแรกๆ เป็นการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสถานบริการสาธารณสุข และระยะต่อมาเป็นโครงการพัฒนาสุขภาพอนามัยให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงจะนำไปสู่สุขภาพจิตที่ดี และส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีตามไปด้วย ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า

 "...การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดี และสังคมที่มั่นคงเพราะร่างกายที่แข็งแรงนั้น โดยปกติจะอำนวยผลให้สุขภาพจิตใจสมบูรณ์ด้วย และเมื่อมีสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์สร้างสรรค์เศรษฐกิจ และสังคมของบ้านเมืองได้เต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย คือ เป็นแต่ผู้สร้างมิใช่ผู้ถ่วงความเจริญ..."



ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ในขบวนเสด็จตรวจรักษาราษฎร และทรงพบว่าราษฎรจำนวนมากขาดการดูแลรักษาในด้านสุขภาพอนามัย โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานจึงได้ถือกำเนิดขึ้นในปี 2510 ต่อมาเมื่อมีการเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับแรม เพื่อเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการต่างๆ โครงการพระราชดำริด้านการแพทย์ จึงได้ขยายขอบข่ายออกไปอย่างกว้างขวาง ซึ่งอาจแบ่งตามลักษณะงานได้เป็น 2 ประการคือ  โครงการแพทย์พระราชทาน ซึ่งประกอบด้วย การบำบัดรักษาจากคณะแพทย์พระราชทาน และอบรมหมอหมู่บ้านดังกล่าว เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาด้านสุขภาพอนามัยของราษฎรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล และระบบปกติยากจะดูแลได้ทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งราษฎรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน และขาดความรู้ในการดูแลรักษาตนเอง การมีคณะแพทย์พระราชทานออกไปบำบัดราษฎร ทำให้ราษฎรมีโอกาสได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ และสำหรับการอบรมหมอหมู่บ้านนั้น จะช่วยให้ราษฎรมีความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและรู้จักวิธีติดต่อกับหน่วยราชการ ในกรณีที่การเจ็บป่วยเกินขีดความสามารถที่จะดูแลรักษาตนเองได้ อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งอาจกล่าวสรุปได้ว่า โครงการหน่วยแพทย์พระราชทานสามารถแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ทางด้านสุขภาพอนามัย ซึ่งเป็นผลที่ได้รับโดยตรงจะช่วยแก้ไขปัญหาการเจ็บป่วย หรือทุพพลภาพได้ปีหนึ่งๆ เป็นจำนวนมาก ราษฎรทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณในการบำบัดรักษาจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่พระราชทาน จะเป็นชาวบ้านชนบทที่ยากจนที่มีอาชีพเป็นเกษตรกร ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จากจำนวนตัวเลขที่ปรากฎในแต่ละปีจะมีราษฎรที่เจ็ยป่วยจากทุกภาคที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณรับไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ ทั้งที่เป็นคนไข้ในโรงพยาบาล และผู้ที่มาขอรับการตรวจ ตลอดจนจากการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตามเสด็จไปตามหมู่บ้านต่างๆ มีจำนวนมากมายนับหมื่นนับแสนคน

  • ทางด้านเศรษฐกิจ การที่ราษฎรเจ็บป่วยจะเป็นปัญหาในการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่จะต้องใช้กำลังกายในการทำงาน ดังนั้นเมื่อได้รับการบำบัดรักษาให้มีสุขภาพพลานามัยที่ดีแล้ว ราษฎรเหล่านั้นจะมีร่างกายที่สามารถต่อสู้กับงานหลักในการประกอบอาชีพได้ ยังผลให้เศรษฐกิจส่วนรวมและสังคมดีขึ้น

"...ฉันต้องการให้หมอช่วยไปดูแล บำบัดทุกข์ให้แก่เด็กนักเรียน และประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลหมอ และจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดตามความจำเป็นโดยให้จัดหน่วยเคลื่อนที่ไปบนรถยนต์ และตระเวนไปตามถนนหนทาง ตามหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลชนบท..."


พระมหากรุณาธิคุณทางด้านการแพทย์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยได้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าพระองค์ทรงไม่ทอดทิ้งประชาชน  และทรงนำพาประชาชนไปสู่ความมีสุขภาพที่ดี และอยู่ดีกินดีได้ในที่สุด




มูลนิธิอานันทมหิดล



เนื่องในโอกาสวันมหิดล ซึ่งตรงกับวันที่ 24 กันยายน อันเป็นวันคล้ายวันทิวงคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ซึ่งทรงมีคุโณปการแก่วงการแพทย์ไทยเป็นอย่างสูง จนได้รับการยกย่องให้ทรงเป็น "พระบิดาแห่งวงการแพทย์ไทย"



ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เป็นทุนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2498 ทั้งนี้ เพื่อที่จะส่งเสริมและสนับสนุนนักศึกษาผู้มีความสามารถยอดเยี่ยม ให้ได้มีโอกาสไปศึกษาหาความรู้ขั้นสูงสุดจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยทรงพระราชดำริว่า เมื่อได้ศึกษาถึงขั้นสูงสุดแล้ว จะเห็นว่าศาสตร์ต่าง ๆ นั้นมีความสัมพันธ์กัน และสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์และประเทศชาติได้ โดยเริ่มแรกได้ทรงพระราชทานนามแก่ทุนนี้ว่า "ทุนอานันทมหิดล" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ในสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร โดยในลำดับแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์เป็นประเดิม ด้วยทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทแห่งสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้ทรงศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ และสนพระทัยการสาธารณสุขของประเทศเป็นอย่างยิ่ง


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระดำเนินรอยตามพระราชบิดา ซึ่งทรงเล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างสรรค์อาจารย์แพทย์และอาจารย์ในสาขาวิชาการต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีพระประสงค์จะให้บุคคลเหล่านั้นกลับมาเป็นครูที่ดี ช่วยปรับปรุงและส่งเสริมความรู้ในสาขาวิชาที่ยังบกพร่องให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานทุนแก่นักศึกษาให้ไปศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และด้านการแพทย์ยังต่างประเทศ จนสำเร็จการศึกษาและกลับมาทำคุณประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองมาแล้ว ลำดับต่อมา เมื่อกิจการของ "ทุนอานันทมหิดล" ดำเนินการได้ผลดีมาเป็นระยะเวลา 4 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้ง "มูลนิธิอานันทมหิดล"เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2502 และเมื่อมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญในวิชาแขนงอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนในสาขาต่าง ๆ เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการพระราชทานทุนแยกเป็นแผนกต่าง ๆ ถึง 8 แผนก ดังนี้
  1. แผนกแพทยศาสตร์
  2. แผนกวิทยาศาสตร์
  3. แผนกวิศวกรรมศาสตร์
  4. แผนกเกษตรศาสตร์
  5. แผนกธรรมศาสตร์
  6. แผนกอักษรศาสตร์
  7. แผนกทันตแพทย์ศาสตร์
  8. แผนกสัตวแพทยศาสตร์
นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญ และประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของความก้าวหน้าทางวิทยาการด้านต่างๆให้แก่คนไทยอย่างยิ่ง






<><><>
<><><>http://www.medicthai.com/admin/news_detail.php?id=4016#
http://kanchanapisek.or.th/kp11/organize/index.th.html
1.
2.
3.
4.
5.
6.
7.
8.







วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2554

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์







คืนวันที่ 25 ต่อกับวันที่ 26 ตุลาคม 2505 ได้เกิดพายุโซนร้อนชื่อ "แฮเรียต" พัดผ่านทางตอนใต้ของประเทศไทย ยังความเสียหายให้เกิดแก่จังหวัดภาคใต้ถึง 12 จังหวัด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อส.พระราชวังดุสิต ประกาศโฆษณาเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์และสิ่งของ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของด้วยพระองค์เอง ความช่วยเหลือได้หลั่งไหลเข้าสู่สถานีวิทยุ อส. ชั่วระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท

ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์และสิ่งของได้ ก็บริจาคแรงงาน ที่น่าปลื้มใจคือ งานนี้ทำโดยอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือ และนักเรียน ได้ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาภัยแก่ประชาชน



พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเงินให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างโรงเรียนประชาบาลที่ถูกพายุพัดพัง รวม 12 โรงเรียน ใน 6 จังหวัดภาคใต้ และภายหลังพระราชทานชื่อว่า "โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 1,2,3 ถึง 12" ตามลำดับ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเงิน 3 ล้านบาท ให้เป็นทุนประเดิมก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า "มูลนิธิราชประชานุเคราะห์" และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ใน "พระบรมราชูปถัมภ์" กับทรงดำรงตำแหน่ง พระบรมราชูปถัมภกแห่งมูลนิธินี้ด้วย ชื่อของมูลนิธินี้ หมายความว่า "พระราชา" และ "ประชาชน" อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นการแสดงน้ำพระทัยว่า เวลาทำงานควรจะได้ให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วย

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้นและจดทะเบียนเป็น นิติบุคคลตามกฎหมาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2506



วัตถุประสงค์
  1. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
  2. เพื่อให้การสงเคราะห์ด้านการศึกษา
    • ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีเยี่ยมในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และเด็กกำพร้า หรืออนาถา ที่ครอบครัวประสบสาธารณภัย
    • บูรณะ ซ่อมแซม ปรับปรุง โรงเรียนราชประชานุเคราะห์
  3. เพื่อให้มีการป้องกันสาธารณภัยที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ
  4. เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือเป็นส่วนรวมแก่ประชาชนที่ได้รับความทุกข์ยากเดือดร้อนประการอื่น ซึ่งคณะกรรมการบริหารพิจารณาเห็นสมควร และได้รับความเห็นชอบจากนายกมูลนิธิฯ

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยได้ทรงมีพระราชดำริว่า ภัยธรรมชาติ หรือสาธารณภัยอาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ไม่มีผู้ใดจะคาดหมายได้ ดังที่ได้เกิดขึ้นที่แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช และหลายจังหวัดภาคใต้ เมื่อ พ.ศ.2505 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งสำนักงานอยู่ในกรมประชาสงเคราะห์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา


 

ที่มา : http://www.thaigiving.org/node/128
         http://www.royalvdo.com/?p=122

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

โครงการด้านคมนาคมสื่อสาร




โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านคมนาคม การสื่อสารและเทคโนโลยีจะเกี่ยวกับการปรับปรุงถนนหนทางทั้งในชนบทที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เพื่อใช้สัญจรไปมา และนำสินค้าออกมาจำหน่ายภายนอกได้โดยสะดวก ซึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านคมนาคมโครงการแรกคือ โครงการสร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้านห้วยมงคล ต.หินเหล็กไฟ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งโครงการสะพานพระราม8 ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรของประชาชนในกรุงเทพมหานครให้ได้รับความสะดวก ยังผลสู่ภาพรวมของประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ ดังพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2537 ความว่า

    "สำหรับการจราจร เครื่องมือนั้นสำคัญที่สุดคือถนน ก็ต้องมีถนนที่เหมาะสมที่เครื่องควบคุมการจราจร ไม่ใช่เรื่องของรัฐศาสตร์ หรือของตำรวจ หรือของศาล เป็นเรื่องของวิศวกรรม ก็จะต้องให้ดีขึ้น คือหมายความว่า ทำให้ถนนดีขึ้น ให้สอดคล้อง ซึ่งเป็นการบ้านที่หนักสุด เพราะว่ากรุงเทพฯได้สร้างมาเป็นเวลา 200 ปีแล้ว ไม่ได้มีแผนผังเมืองที่จริงจัง ก็มีการผังเมืองของทางการ แต่ว่าก็ไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะว่าคนไทยตามชื่อคนไทยคืออิสระ บังคับกันไม่ได้ จะสร้างอะไรก็สร้าง อยากจะสร้างเดี๋ยวนี้ก็สร้าง ก็ไปขวางกับคนอื่น คือขวางทางอื่น อันนี้ก็เลยแก้ไม่ได้..."



โครงการสะพานพระราม 8 หนึ่งในโครงการจตุรทิศ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรุงเทพมหานครพิจารณาก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอีก 1 แห่ง เมื่อปี 2538 ณ บริเวณโรงงานสุราบางยี่ขัน บรรจบกับปลาย ถ.วิสุทธิกษัตริย์ ใกล้ธนาคารแห่งประเทศไทย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “โครงการสะพานพระราม 8” เพื่อระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ด้วยทรงตระหนักถึงความคับคั่งของการจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ที่จะมี ปริมาณเพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ระหว่างพื้นที่ฝั่งพระนครกับฝั่งธนบุรีที่ยังขาดการเชื่อมต่อที่เพียงพอทำให้เกิดการคับคั่งของการจราจร บริเวณพื้นที่ด้านตะวันออกโดยเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน บริเวณถนนราชดำเนินราชดำเนินกลาง ซึ่งต่อกับฝั่งธนบุรี โดยผ่านสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าและ ถ.จรัญสนิทวงศ์  ซึ่งเป็นถนนสายหลักเส้นหนึ่งของฝั่งธนบุรี  ที่มีปริมาณการจราจรคับคั่งให้ สามารถคลี่คลายลงได้





ที่มา : http://www.rdpb.go.th/RDPB/front/Projects/RDPBProjectType.aspx?p=43

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

แก้มลิง : ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอันเนื่องมาจากพระราชดำริ



 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นนักสังเกตธรรมชาติที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพ อีกทั้งยังทรงพระปรีชาสามารถในการนำสิ่งที่ทรงสังเกตเห็นมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา และแก้ไขปัญหาต่างๆอยู่เสมอ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ แนวพระราชดำริโครงการแก้มลิง ซึ่งพระราชทานแก่คณะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล เมื่อวันที่14 พฤศจิกายน 2538 อันเป็นปีที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ





พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานแนวพระราชดำริ แก้ไขปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ไว้ 5 แนวทาง คือ





ประการแรก สร้างคันกั้นน้ำ โดยปรับปรุงแนวถนนเดิม

ประการที่สอง จัดให้มีพื้นที่สีเขียว (Green Belt) ตามพระราชดำริ เพื่อกันการขยายตัวของเมือง และเพื่อแปรสภาพให้เป็นทางระบายน้ำ เมื่อมีน้ำหลาก

ประการที่สาม ดำเนินการขุดลอกคลอง ขยายคลองที่มีอยู่เดิม และขุดใหม่นอกแนวคันกั้นน้ำ

ประการที่สี่ สร้างสถานที่เก็บน้ำตามจุดต่าง ๆ

ประการที่ห้า ขยายช่องทางรับน้ำที่ผ่านทางรถไฟและทางหลวง






วิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภูมิภาคต่าง ๆ คือ




การก่อสร้างคันกันน้ำ โดยการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำขนานไปตามลำน้ำเพื่อป้องกัน มิให้น้ำล้นตลิ่งไปท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ด้านในการก่อสร้างทางผันน้ำ เพื่อผันน้ำทั้งหมดหรือบางส่วนที่ล้นตลิ่งท่วมล้นเข้ามา ให้ออกไป การปรับปรุงและตกแต่งสภาพลำน้ำ เพื่อให้น้ำที่ท่วมทะลัก สามารถไหลไปตามลำน้ำได้สะดวก หรือช่วยให้กระแสน้ำไหลเร็วยิ่งขึ้น การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล ตามพระราชดำริ "แก้มลิง"



ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระราชดำริไว้ว่า


“…ลิงโดยทั่วไปที่เราส่งกล้วยให้ ลิงก็จะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยวๆ แล้วเอาไปเก็บที่แก้ม จะกินกล้วยเข้าไปไว้ที่กระพุ้งแก้มได้เกือบทั้งหวี แล้วนำออกมาเคี้ยวและกลืนกินเข้าไปภายหลัง การนำเอากล้วยหรืออาหารมาสะสมไว้ที่กระพุ้งแก้มก่อนการกลืนนี้ เป็นพฤติกรรมตัวอย่างที่จะนำมาใช้ในการระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังบริเวณทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา … ”


โครงการแก้มลิง เป็นระบบการบริหารจัดการน้ำในฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยการขุดลอกคูคลองต่างๆเพื่อระบายน้ำส่วนเกินออกจากพื้นที่ลุ่มให้ไหลมารวมกันในบ่อพักน้ำ ลักษณะเดียวกับที่ลิงสะสมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้ม จนเมื่อน้ำในทะเลลดลงจึงค่อยระบายน้ำลงทะเล โดยการใช้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก





ลักษณะและวิธีการของโครงการแก้มลิง

ดำเนินการระบายน้ำออกจากพื้นที่ตอนบน ให้ไหลลงคลองพักน้ำขนาดใหญ่ ที่บริเวณชายทะเล เมื่อระดับน้ำทะเลลดต่ำกว่าระดับน้ำในคลอง ก็ทำการระบายน้ำจากคลองดังกล่าว โดยใช้หลักการทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow)


ตามธรรมชาติ สูบน้ำออกจากคลองที่ทำหน้าที่ "แก้มลิง" นี้ เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเองตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง เมื่อระดับน้ำทะเลสูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ โดยยึดหลักน้ำไหลลงทางเดียว (One Way Flow)





หลักการ 3 ประเด็น ที่โครงการแก้มลิงจะสามารถมีประสิทธิภาพบรรลุผลสำเร็จตามแนวพระราชดำริคือ



การพิจารณาสถานที่ที่จะทำหน้าที่เป็นบ่อพัก และวิธีการชักนำน้ำท่วมไหลเข้าสูบ่อพักน้ำ เส้นทางนํ้าไหลที่สะดวกต่อการระบายน้ำเข้าสู่แหล่งที่ทำหน้าที่บ่อพักน้ำ การระบายน้ำออกจากบ่อพักน้ำอย่างต่อเนื่อง โครงการแก้มลิงฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้คลองชายทะเลที่ตั้งอยู่ริมทะเลด้าน จ.สมุทรปราการ ทำหน้าที่เป็นบ่อพักน้ำหรือบ่อรับน้ำ โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อระบายออกทะเลด้าน จ.สมุทรสาคร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อให้การระบายน้ำท่วมออกทะเลเร็วขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ คือ  โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"

ซึ่งใช้หลักการในการควบคุมน้ำในแม่น้ำท่าจีน คือ เปิดระบายน้ำจำนวนมากลงสู่อ่าวไทยเมื่อระดับน้ำทะเลต่ำ โครงการแก้มลิงแม่น้ำท่าจีนตอนล่าง จะมีประสิทธิภาพสมบูรณ์ต้องดำเนินการครบระบบ 3 โครงการด้วยกัน คือ
  • โครงการแก้มลิง "แม่น้ำท่าจีนตอนล่าง"
  • ครงการแก้มลิง "คลองมหาชัย-คลองสนามชัย"
  • โครงการแก้มลิง "คลองสุนัขหอน"



โครงการแก้มลิงนับเป็นนิมิตรหมายอันเป็นสิ่งที่ชาวไทยทั้งหลายได้รอดพ้นจากทุกข์ภัยที่นำความเดือดร้อนแสนลำเค็ญมาสู่ชีวิตที่อบอุ่นปลอดภัย ซึ่งแนวพระราชดำริอันเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมนี้ มีพระราชดำริเพิ่มเติมว่า

"...ได้ดำเนินการในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว ขอให้รีบเร่งหาวิธีปรับปรุงและเพิ่ม
ประสิทธิภาพต่อไป เพราะโครงการแก้มลิงในอนาคตจะสามารถช่วยพื้นที่ได้หลายพื้นที่..."


นอกจากนี้ โครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริ ยังมีประโยชน์ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย ซึ่งเป็นปัญหาด้านสภาวะแวดล้อม โดยน้ำที่ปล่อยลงจากแก้มลิงจะช่วยเจือจางน้ำเน่าเสียในคลองต่างๆ ให้เบาบางลง แล้วจึงผลักออกสู่ทะเล โครงการแก้มลิงจึงถือได้ว่าเป็นโครงการที่อาศัยธรรมชาติในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงมีความรู้จริงในธรรมชาติของน้ำ และสภาพภูมิประเทศในท้องที่ต่างๆ อย่างลึกซึ้ง






ที่มา :
http://www.royalvdo.com/?p=68
http://www.vajiravudh.ac.th/VCZone/VC_SeM/Project/ENVIRONMENT08.pdf


วันจันทร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2554

องค์ภูมิพลทรงพลิกฟื้นทะเลทรายกลายเป็นป่า




ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย



             แต่เดิมสภาพภูมิประเทศในเขตพื้นที่ อ.เพชรบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ มีความอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างมาก แต่ภายหลังได้มีราษฎรเข้ามาบุกรุกแผ้วถางป่า ทำลายป่า ทำการเกษตรอย่างผิดวิธี และใช้สารเคมีที่ส่งผลเสียต่อดินและน้ำ ขาดการบำรุงรักษาคุณภาพดิน ทำให้พื้นที่บริเวณดังกล่าวเปลี่ยนแปรสภาพไปอย่างรวดเร็ว หน้าดินถูกชะล้างความอุดมสมบูรณ์ไปหมดสิ้น ดินกลายเป็นดินทรายและดินดานที่ไม่มีแร่ธาตุ ความสมดุลทางธรรมชาติถูกทำลายโดยสิ้นเชิง เกิดภาวะฝนทิ้งช่วงความแห้งแล้งของพื้นที่แผ่ขยายเป็นวงกว้าง

            วันที่ 5 เมษายน 2526 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาพื้นที่เขตพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ความว่า

"หากปล่อยทิ้งไว้จะกลายเป็นทะเลทรายในที่สุด" 

จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ดำเนินการประมาณ 8,700 ไร่ให้เป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯด้านป่าไม้เอนกประสงค์ ศึกษารูปแบบการพัฒนาเกษตรกรรมที่เหมาะสมควบคู่กับการอนุรักษ์และปลูกป่า จัดหาแหล่งน้ำ โดยเน้นการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลได้พระราชทานพระราชดำริให้ดำเนินงานในรูปแบบ "ป่าไม้หมู่บ้าน" คือให้ราษฎรดำเนินการเองเป็นเจ้าของเอง ปลูกป่าและบำรุงดูแลรักษาต้นไม้เอง โดยระยะแรกให้หน่วยงานราชการเข้าไปสาธิตและแนะนำให้ราษฎรรู้จักการเพาะต้นกล้า ซึ่งได้พาะกล้าไม้ ทั้งไม้โตเร็ว ไม้ผล และไม้เศรษฐกิจ พร้อมทั้งได้ศึกษาการป้องกันไฟป่าแบบ "ระบบป่าเปียก" ต่อมาได้มีการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการปรับบำรุงดิน เพราะหญ้าแฝกเปรียบเสมือน กำแพงธรรมชาติที่มีชีวิต จะช่วยชะลอความเร็วของน้ำที่ไหลบ่าสามารถดักตะกอนดินทำให้เกิดหน้าดินและความชื้นในดินด้วย


แนวทางการดำเนินงาน
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ร่วมกับส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมดำเนินการพัฒนาพื้นที่ใน ๓ ขอบเขตใหญ่ๆคือ

๑. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๒. การพัฒนาแหล่งน้ำ
๓. การพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร

  



การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกขวางตามแนวระดับให้กอชิดติดกัน ตามความเหมาะสมของพื้นที่ลาดชัน เพื่อช่วยลดความเร็วของกระแสน้ำที่เกิดจากการชะล้างของหน้าดิน ในบริเวณร่องน้ำ แนวของหญ้าแฝกช่วยเก็บกักตะกอน เป็นกำแพงป้องกันดินตามธรรมชาติ ล้อมดินไว้เพื่อสร้างหน้าดินขึ้นมาใหม่ โดยทำการปลูกป่าเสริมลงไปในพื้นที่ ส่วนบริเวณแหล่งน้ำรากของหญ้าแฝกยังดูดซับสารเคมี เป็นวิธีการใช้หญ้าแฝกเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ





<><>
ในดินที่แข็งเป็นดาน
ได้ทำการขุดเจาะให้เป็นช่องหรือบ่อ นำดินที่มีธาตุอาหารพืชมาใส่ นำหญ้าแฝกมาปลูกให้น้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น รากของหญ้าแฝกมีความแข็งแรง สามารถชอนไชลงในแนวดิ่ง ทนต่อสภาพอากาศแห้งแล้ง
ได้ดี ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินที่แข็งเป็นดานให้แตกตัว รากของหญ้าแฝกที่ตายและย่อยสลายผุพัง เกิดมีช่องว่าง ทำให้น้ำและอากาศสามารถหมุนเวียนลงสู่ใต้ดินได้ ทำให้เกิดความชุ่มชื้นเกิดขบวนการ
การย่อยสลาย นำพันธุ์ไม้ที่ทนต่อสภาพความแห้งแล้งได้ เช่น ไม้ดั้งเดิมที่เคยมีในพื้นที่มาปลูกเสริม ใบของหญ้าแฝกที่แก่ ยังสามารถตัดและนำมาคลุมผิวดินตามโคนต้นไม้หรือหน้าดิน ช่วยป้องกันการระเหยของน้ำ ย่อยสลายได้เร็ว หมุนเวียนเป็นธาตุอาหารของพืชได้ต่อไป





การกระจายความชุ่มชื้น
แต่เดิมพื้นที่มีความแห้งแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เป็นเขตอับฝน เกิดสภาพเป็นทะเลทราย เมื่อมีฝนตกเกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดินต้นไม้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ภูเขามีสภาพเป็นเขาหัวโล้นซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำริให้จัดหาแหล่งน้ำ เพื่อสร้างและกระจายความชุ่มชื้นในพื้นที่ให้มากขึ้น โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้ดำเนินการดังนี้คือ

การสร้างฝายชะลอความชุ่มชื้น (ฝายแม้ว) (Check Dam)
     คือการนำวัสดุตามธรรมชาติหรือที่มีอยู่ในพื้นที่ มาใช้ปิดกั้นทางน้ำร่องเขา และพื้นที่ที่มีความลาดชันซึ่งอยู่ตอนบนของภูเขา เพื่อช่วยชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลงและช่วยดักตะกอนไว้ ไม่ให้ไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง ในระยะเวลาหนึ่งเศษซากกิ่งไม้ ใบไม้และตะกอนดินจะช่วยอุดตามช่องและร่องของวัสดุที่ใช้ทำฝายชะลอความชุ่มชื้น สามารถเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ช่วยกระจายความชุ่มชื้นในบริเวณร่องเขา หรือร่องน้ำให้น้ำมีโอกาสซึมลงสู่ใต้ดิน เป็นการเพิ่มและรักษาระดับน้ำใต้ดินไว้ให้พืสามารถดูดซับความชุ่มชื้นไว้ได้



การทำคันดินกั้นน้ำและคันดินเบนน้ำ
  • คันดินกั้นน้ำ(Terracing) คือการสร้างคันดินขวางพื้นที่ลาดเอียง(ลาดเท) ในบริเวณพื้นที่ราบเชิงเขา ทำการขุดพื้นที่บางส่วน ให้เป็นแอ่งขยายให้กว้าง มีลักษณะคล้ายอ่างน้ำขนาดเล็ก ใช้ในการเก็บกักน้ำไว้ในพื้นที่ สร้างความชุ่มชื้นและน้ำบางส่วนสามารถซึมลงสู่ใต้ดินช่วยรักษาระดับน้ำใต้ดิน แล้วทำการปลูกป่าเสริมรอบๆบริเวณแอ่งน้ำหรือเหนือคันดินกั้นน้ำ เพื่อสร้างป่าขึ้นมาใหม่

  • คันดินเบนน้ำ(Diversion) คือการขุดดินให้เป็นร่อง หรือบางส่วนยกระดับคันดินให้สูงขึ้น สร้างขึ้นเพื่อสร้างต่อกับคันดินกั้นน้ำทั้งสองด้านเข้าหากัน เมื่อมีฝนตกและปริมาณมาก น้ำสามารถไหลกระจายไปตามแนวคันดินแบบน้ำได้ทั้งสองด้านได้อย่างทั่วถึง ถ้าปริมาณน้ำเกินความจุของแอ่งน้ำหรืออ่างเก็บน้ำในแนวระดับ จะมีท่อลอดต่อผันน้ำไปยังแนวคันดินกั้นน้ำ และคันดินแบบน้ำด้านล่างที่เป็นแนวถัดไป สามารถควบคุมน้ำให้กระจายไปในพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง คันดินกั้นน้ำแบบนี้สามารถใช้เป็นถนนสัญจรไปมา และยังใช้เป็นแนวป้องกันไฟป่าได้อีกด้วย




การดำเนินงานของศูนย์ศึกษาการพัฒนาแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่ของรูปแบบการบริหารจัดการ ที่สมควรจะนำไปประยุกต์ใช้ปฏิบัติ ในการพัฒนาพื้นที่ชนบทอื่นๆ ของประเทศต่อไปได้อย่างดียิ่ง และความสำเร็จดังกล่าวได้สร้างความปลาบปลื้ม และพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากก่อนที่จะเสด็จพระราชดำเนิน กลับกรุงเทพมหานคร ได้มีพระราชกระแสกับเจ้าหน้าที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ที่ส่งเสด็จ ณ พระราชราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ.2541 ความตอนหนึ่งว่า


"...สิ่งที่ทำไว้ที่ห้วยทราย นับว่าประสบความสำเร็จดีมาก ต้องบันทึกเอาไว้เป็นทฤษฎีหรือตำรา.....ฉันปลื้มใจมาก..."

โดยยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้ทรงพระราชทานให้ไว้เป็นหลักปฏิบัติ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจสานพลังเป็นหนึ่งเดียว ทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้พื้นที่ที่มีสภาพเกือบเป็นทะเลทราย กลับกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีป่าอันอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นำความชุ่มชื่นและปริมาณฝนมาสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น รวมทั้งหมู่สัตว์ต่างๆที่เคยละทิ้งไปอยู่ที่อื่น ได้กลับคืนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ด้วยความปกติสุขอีกครั้ง อีกทั้งประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ของศูนย์ รวมทั้งประชาชนที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง ยังได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว รวมทั้งด้านการศีกษา การสาธารณสุข ฯลฯ เป็นการปูรากฐานของชุมชนให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก่อให้เกิดชุมชนที่เข้มแข็ง นับเป็นคุณูปการใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานไว้ให้กับประชาชนชาวไทยทุกคน




ที่มา : http://www.huaysaicenter.org/environment.php

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

ความทรงจำที่สำคัญที่สุดในชีวิต

              

                 ตั้งแต่วัยเด็ก ผู้เขียนได้เห็นรูปของในหลวงติดอยู่ที่บ้าน โรงเรียน ตามสถานที่ต่างๆ  ในโทรทัศน์ บนปฏิทิน บนธนบัตร บนเหรียญกษาปญ์ และได้เห็นภาพพระราชกรณียกิจของพระองค์ ที่ถ่ายทอดทางโทรทัศน์ทุกวัน ฯลฯ รวมถึงภาพรับพระราชทานปริญญาบัตรของแม่  ผู้เขียนรู้สึกได้ถึงความรัก ความเทิดทูนของคนไทยที่มีต่อพระองค์ท่านอย่างยิ่ง  ทำให้ผู้เขียนมีความคิดว่า...ถ้าวันหนึ่งในภายภาคหน้า ขอได้มีโอกาสสักครั้งที่จะได้เข้าเฝ้าพระองค์เหมือนอย่างแม่บ้าง


           20 กว่าปีผ่านไป...วันนั้นก็มาถึง เป็นวันสำคัญที่สุดวันหนึ่งในชีวิต ที่ผู้เขียนจดจำไม่มีวันลืม ผู้เขียนได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ของพระองค์ โดยปกติแล้วการรับพระราชทานปริญญาบัตรนั้น จะห้ามมิให้บัณฑิตเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ แต่ความที่ผู้เขียนตื่นเต้น และนี่คงเป็นโอกาสเดียวที่จะได้เห็นพระองค์ในระยะใกล้มากขนาดนี้ ผู้เขียนได้เแอบเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ของพระองค์ ไม่รู้ว่าคิดเข้าข้างตัวเองหรือเปล่า ว่าได้เห็นพระองค์แย้มพระสรวลให้ วินาทีนั้นแม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงเสี้ยววินาที แต่ผู้เขียนไม่เคยลืมเลือนเลย จำภาพนั้นได้อย่างชัดเจน เป็นความรู้สึกตื่นเต้น ตื้นตัน ปลาบปลื้ม และภาคภูมิใจอย่างที่สุด ผู้เขียนปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติตน

เป็นคนดี และจะเทิดทูนพระองค์‎  "พระภูมิพลมหาราช" ตลอดไป

‎ทรงพระเจริญ

 ...ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ...